หมู่บ้านแสงวิมาน
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

  ภูมิหลังบ้านแสงวิมาน

ผู้ที่ผ่านไปจังหวัดนครศรีธรรมราชบนถนนสายนคร – ปากพนัง กิโลเมตรที่ 15 จะมีป้ายทางหลวงบอกทางเข้าหมู่บ้านแสงวิมาน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร    แสงวิมานเป็นชุมชนเล็ก ๆ ระดับหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 13 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประมาณ   209  ครัวเรือน ชาย 639  คน หญิง 740 คน รวม 1,329 คน นับถือศาสนาอิสลาม 156 ครัวเรือน  ศาสนาพุทธ 53 ครัวเรือน  มีที่ดินถือครองประมาณ 1,600 ไร่ เป็นชุมชนที่จัดตั้งและดำเนินการด้วยวิธีการของตนเอง โดยได้พยายามรักษาพื้นฐานดั้งเดิม คือวิถีชีวิต ภาษาและวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม

                ผลงานของหมู่บ้านเป็นที่ยอมรับของทางราชการหลายหน่วยงานได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน อาทิ พัฒนาชุมชน กลุ่มเกษตรกร ศูนย์ศึกษานอกโรงเรียน โรงเรียน วิทยาลัย กลุ่มองค์กรเอกชน ฯลฯ บุคคลภายนอกได้ขนานนามต่าง ๆ ให้ เช่น หมู่บ้านตัวอย่าง หมู่บ้านคนดี หมู่บ้านช่วยตัวเอง หมู่บ้านพัฒนา เป็นต้น เคยได้รับเกียรติบัตรเป็นหมู่บ้านพัฒนาระดับจังหวัด ระดับภาค ได้รับการจัดตั้งจากทางราชการ ให้เป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นทอง เมื่อ พ.ศ. 2532 รางวัลส่วนบุคคลก็มีมาก ทั้งระดับจังหวัดจนถึงระดับประเทศ

                ผลงานชิ้นใหญ่ ๆ ที่แสงวิมานได้ให้ไว้กับท้องถิ่นมากมาย เช่น การใช้ภาษากลาง ภาษากรุงเทพ (ภาคใต้เรียกว่า ภาษาข้าหลวง) เดิมคนใต้จะพูดได้น้อยมาก แสงวิมานมาช่วยให้ขยายภาษากลางให้กว้างขวางขึ้น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อนมักจะส่งไปจากภาคกลาง ทำให้ชาวแสงวิมานติดต่อราชการได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเสมอ

                การทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทำสวนยกร่องแบบภาคกลางซึ่งชาวแสงวิมานได้ทำมา ตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้ก่อตั้งหมู่บ้านแล้ว ทางราชการเพิ่งมีการฟื้นฟูที่เรียกว่าปรับโครงสร้างการเกษตร ปัจจุบันการปลูกพื้นหลายชนิด การใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ทุกตารางเมตร หมู่บ้านจึงเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของงานส่งเสริมการเกษตรของทางราชการ การเกี่ยวข้าวด้วยเคียวแทนการเก็บข้าวด้วยแกระ ซึ่งทางภาคใต้ปฏิบัติกัน ทางราชการได้จ้างชาวแสงวิมานไปเป็นครูสอนวิธีเกี่ยวข้าวด้วยเคียว จนเกิดเป็นแบบอย่างกว้างขวางต่อมา

                การรวมกลุ่มทำงานหมู่บ้านได้ทำมาแต่เดิม การลงแขก แรงงาน งานเปิดป่า งานขุดสวน ปลูกข้าว ฯลฯ ชาวแสงวิมานได้รักษาการทำงาน เป็นกลุ่มตลอดมา ซึ่งพัฒนามาเป็นกลุ่มอาชีพ กลุ่มสวน กลุ่มนา กลุ่มประมง เลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงมาสู่การรวมกลุ่มการซื้อ การขายผลผลิต กลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ เป็นที่สนใจของานพัฒนาชุมชนของทางราชการ

                ตัวอย่างของหมู่บ้านคนดีมีศีลธรรมเป็นที่กล่าวถึงเสมอของทางราชการ ชาวแสงวิมานจะช่วยรักษาให้เกิดความสงบสุขร่วมกันพยายามป้องกันสิ่งอบายมุขทั้งหลาย ไม่ให้มีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้น กรณีพิพาทขัดแย้ง ใด ๆ จะพยายามหาทางยุติในหมู่บ้านเอง ทางราชการให้เกียรติที่จะไม่ลงมาก้าวก่าย ตำรวจจะไม่มาเกี่ยวข้อง โรงศาลไม่มีความจำเป็น 70 ปี ของหมู่บ้านมีคดีถึงโรงศาลเพียง 3-4 คดีเท่านั้น

                ปัจจุบันแม่ว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย สังคมได้รับผลกระทบในทางลบ ปัญหาเยาวชน วัยรุ่น ยาเสพติดและอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ชาวแสงวิมานก็ยังคงสามารถรักษาความสงบสุขของหมู่บ้านไว้ได้

กำเนิดแสงวิมาน

กลุ่มของแสงวิมานที่ปรากฏหมู่บ้านที่จัดเจน คือบ้านปากลัด ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อยู่รวมกับ ชาวมอญ คนสองกลุ่มรัก สามัคคีกันดีมากตลอดมา

                จากบันทึกของครูฮัจยีอับบาส  แสงวิมาน  (แชบะห์)    เรื่องสายตระกูลมีว่า มีพี่น้องสองคนชื่อดอเมาะห์ และดอยี ทั้งสองกลุ่มนี้ได้ขยาย จำนวนลูกหลานมากมายในปัจจุบัน ดอเมะห์ขยายไปทางจังหวัดปทุมธานี ส่วนดอยีคือกลุ่มทางปากลัด บันทึกที่กระชับขึ้นอีกคือ มุฮัมมัด ฟะตอนี(ปัตตานี) มีบุตร 2 คน คือ อับดุลเลาะห์(แสง)/ และอับดุรเราะห์มาน    แสงหรือนายกองแสงมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องที่ดิน ส่วน อับดุรเราะห์มานเป็นผู้น้องเป็นผู้บริหารทางศาสนา(นามสกุลแสงวิมาน มากจากนามของต้นตระกูลทั้งสองท่าน แสงและมานโดยเพิ่ม “วิ” เพื่อความหมายและไพเราะขึ้น ปัจจุบันยังมีผู้ใช้นามสกุลแสงมานอยู่บางส่วน ซึ่งก็มีที่มาจากสายตระกูลเดียวกัน)  อับดุลเลาะห์(แสง) มีภรรยา 2 คน ๆ แรกเป็นชาวเคดาห์(ไทรบุรี) มีลูกหลานสืบลงมาจนถึงอาจารย์เซ็ง (อดีตอิมามมัสญิด อัลอิสติกอมะห์ ทุ่งครุ ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อปอ (วาร้าน) มีลูกคนเดียวชื่อ ฮัจยีกะจิ๊ เมื่ออับดุลเลาะห์(แสง)จะสิ้นชีวิตได้ฝากฝังภรรยา (ปอ) ให้แก่อับดุลเราะห์มานน้องชาย แต่งงานด้วยซึ่งมีลูกหลานสืบมาอีกหลายคน

                อับดุรเราะห์มานมีภรรยาอยู่ก่อนชื่อซะห์รอ มีลูกหลายคนและมามีลูกกับปออีกหลายคน ลูกที่สืบทอดงานศาสนาต่อจากท่านคือ ครูฮัจยีอับบาส (แชบะห์) ผู้บริหารปากลัดและเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างมัสญิดปากลัดที่ถาวรมาจนปัจจุบัน ท่านเป็นนักการศาสนาที่เชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับของมุสลิมในภาคกลาง บ้านปากลัดมีนักวิชาการศาสนาอยู่หลายท่าน จึงเป็นแหล่งความรู้ทางศาสนา นอกจากนี้ท่านยังได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาฝ่ายศาสนาอิสลาม 1 ใน 5 ของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านอดีตจุฬาราชมนตรีแช่ม พรมยงค์ ก็เป็นคนปากลัดและอยู่ในสายตระกูลนี้ด้วย

ส่วนฮัจยีกะจิ๊ลูกของแสง ท่านผู้นี้เป็นนักพัฒนาสังคม นักเศรษฐกิจ จากการบอกเล่าทราบว่าเมื่อเยาว์วัยท่านถูกส่งไป ศึกษาที่ปีนังซึ่งเป็นเมืองที่อังกฤษปกครองและพัฒนารุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคนี้ เล่ากันว่าส่วนหนึ่งของสายตระกูลเดิมคือชาวเมืองเคดาห์ ปีนัง ซึ่งต่อมาได้มีการไปสืบหาญาติ(ฮัจญะห์แมะ)ปี 2480 พบญาติพี่น้องมากมาย บางคนเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือทะเล ฮัจยีมุฮัมมัดนูร ต้นตระกูลมัสและห์ซึ่งเป็นผู้ท่องจำอัลกุรอาน(ฮาฟิซ) ก็เป็นชาวเคดาห์ สุสานของท่านอยู่ที่กุโบร์ มัสญิดสามวา มีนบุรี) การศึกษาและประสบการณ์ของฮัจยีกะจิ๊จากปีนัง ท่านได้นำมาธุรกิจที่ปากลัด ได้ตั้งโรงเลื่อย(มือ)โดยจ้างกรรมกรชาวจีนทำงาน ตั้งโรงสีกระเดื่องแปรรูปข้าว ตั้งร้านค้า ปากลัด ยุคนั้นจึงเป็นชุมชนที่ก้าวหน้าทั้งทางด้านสังคม ศาสนาและเศรษฐกิจ ด้านการเกษตรมีการทำสวน ทำนาที่ก้าวหน้ากว่าท้องถิ่นอื่น ชื่อเสียงของปากลัดจึงเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรคงที่ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นเสมอ บ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน การขยายอำนาจของชาติตะวันตก ได้บีบบังคับให้ประเทศไทยต้องปรับตัวโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ พืชเศรษฐกิจหลักดั้งเดิมของชาติคือข้าว ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก รัฐได้ปรับปรุงแหล่งปลูกเสมอ พัฒนาชลประทานทุ่งรังสิต ทุ่งบางบัวทอง ขุดคลองต่าง ๆ มากมาย ชาวปากลัดได้ขยายตัวแสวงหาที่ดินเพื่อถือครอง เพื่ออาชีพ เพื่อความมั่นคงแก่ชีวิตลูกหลาน มุสลิมมีรูปแบบวิถีชีวิตและศาสนาของตนเอง การขยายตัวเป็นสังคมใหม่เกิดขึ้น เช่น ทุ่งครุ กิโลเก้า ปัจจุบันทางตะวันออก บางพลี พระโขนง มีนบุรี หนองจอก เป็นต้น ด้านเหนือ คือ ทุ่งบางบัวทองซึ่งมีกลุ่มเดิมอยู่ส่วนหนึ่ง คือกลุ่มอิมามดามุฮิ ตอเตบดามาลี และบิหลั่นยะห์ยอ   ส่วนกลุ่มแสงวิมานนำโดยฮัจยีกะจิ๊ ได้ออกไปยังคลองลากค้อนกระทุ่มมืดได้ทดสอบความเหมาะสมอยู่ช่วงหนึ่ง ปรากฏว่ามีอุปสรรคบางประการ ท่านจึงย้ายไปที่คลองมะสง อำเภอไทรน้อย นนทบุรี ที่นี่ท่านได้เพื่อนฝูงที่ร่วมงานกันได้อย่างดียิ่ง ทำให้เกิดความเจริญ ความอยู่ดีมีสุข การทำนาได้รับผลดีมาก ข้าวเขตบางบัวทองเป็นข้าวชั้นหนึ่งที่ได้รับรางวัลระดับโลก  ท่านได้สร้างมัสญิดและชักชวนลูกหลานจากถิ่นอื่นให้ไปรับการอบรมสั่งสอนทั้งเรื่องศาสนาและทำกิจกรรมต่าง ๆ มีการฝึกฝนศิลปะการป้องกันตัว เช่น มวย กระบีกระบองเป็นต้น คลองมะสงยุคนั้นจึงเป็นเสมือนแผ่นดินแผ่นดินทองฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะมีพี่น้องไปหายะก๊ะ(ซะกาต)หรือนำข้าวของไปเยี่ยมเยือน เป็นที่ผูกพันรักใคร่อบอุ่นตลอดมา การทำนาสมัยนั้นข้าวเปรียบเสมือนพืชทองคำ คนทำนามีความหมายมากจนมีคำพังเพยกันว่า ”สิบพ่อค้าไม่เท่าทำนามุมเดียว” นั่นคืออดีตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

                ความเปลี่ยนแปลงที่ดับอนาคตของชาวนา คือ ภัยธรรมชาติอันเกิดจากภาวะน้ำท่วมหรือฝนแล้ง อีกสาเหตุหนึ่งคือราคาข้าวตกต่ำ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเกิดหนี้สินและดอกเบี้ย ที่งอกงามอยู่ทุกสภาวะ การแก้ตัวของชาวนาใช้เวลาเป็นปี หมดวิถีทางที่จะต่อสู้จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยงแปลงโดยการดิ้นรนหาแผ่นดินแห่งใหม่ที่มีความเหมาะสมสามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี โดยมีปัจจัยน้ำที่อุดมสมบูรณ์ นี่คือ เหตุผลและที่มาของแสงวิมานนครศรีธรรมราช ท่านฝากข้อคิดแก่ลูกหลานไว้ว่า “อาเครให้มุ่งหน้าไปทางทะเลเข้าไว้”

                มุสลิมที่อยู่ภาคกลางจนกลายเป็นคนท้องถิ่นแล้วก็ตาม แต่ความผูกพันกับภาคใต้ก็คงยังมีอยู่ เช่น ภาษาดั้งเดิม(มลายู) วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ข้อปฏิบัติทางศาสนาและพีธีกรรม จึงจำเป็นต้องส่งลูกหลานมาศึกษาจากภาคใต้ หลายท้องที่ต้องเชิญผู้มีความรู้จากภาคใต้ไปเป็นครู ฤดูเก็บเกี่ยวจะมีชาวใต้(ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เดินทางไปหาชะกาต ความผูกพันเหล่านี้จึงทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานจากภาคกลางลงมาภาคใต้มากกว่าที่จะคิดไปทางภาคอื่น ๆ

                ช่วงปี 2470-2475 บ้านเมืองอยู่ในช่วงวิกฤติ ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ ราคาข้าวเหลือเกวียนละ 14-15 บาท การเมืองกำลังร้อนระอุจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

                พี่น้องจากแสนแสบ ทรายกองดิน กลุ่มหนึ่งโยกย้ายไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านท่าซัก อำเภอเมือง แผ่นดินใหม่นี้อุดมสมบูรณ์มาก ญาติคนหนึ่งจากกลุ่มนี้(โต๊ะเงาะห์ฮาบีเบาะห์) ได้ชักชวนฮัจญีหมัด มัสและห์(สามีโต๊ะวานาค-ตาของครูสุอิบ)เพื่อนสนิทของฮัจญีกะจิ๊(ปู่ของครูสุอิบ)จากคลองมะสง ฮัจยีหมัดได้ไปอยู่ที่ท่าซักในปี 2474 และต่อมาได้นำข่าวดีไปบอกฮัจญีกะจิ๊เพื่อนสนิททราบ

                ฮัจญีกะจิ๊ได้ตัดสินใจส่งลูกชายคนโตของท่าน คือ นายอับดุเลาะห์เดินทางไปทดสอบความเหมาะสม โดยให้เงื่อนไขไว้หลายประการ เพราะเป็นการย้ายถิ่นฐานเพื่อต้องการสร้างสังคมใหม่ที่มั่นคงจำเป็นต้องรอบคอบ เมื่อนายอับดุลเลาะห์เดินทางมาถึงบ้านปากพญา ตำบลท่าซักเมื่อปี 2476 เห็นว่าที่นี้มีผู้คนหนาแน่นแล้ว การตั้งหมู่บ้านใหม่จะถูกจำกัดโดยจำนวนที่ดินและความไม่สะดวกในการบริหารปกครอง ท่านจึงชักชวนฮัจญีหมัดไปดูที่คลองบางจาก(บ้านแสงวิมานปัจจุบัน)สิ่งแรกที่ประทับใจคือทิวไม้ปากคลองที่เจริญใหญ่กว่าคลองอื่น ๆ บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน เป็นคลองที่มีน้ำจืดติดต่อกับปากอ่าวปากพนัง มีกระแสน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้นึกถึงปากลักดั้งเดิม ภายหลังฮัจญีกะจิ๊ได้มาถึงที่นี้ท่านถึงกับกล่าวว่า”เราได้ปากลัดกลับคืนแล้ว”  หลังจากนายอับดุลเลาะห์ได้ทดสอบอยู่ 2-3 ปี จึงนำข้อมูลไปสู่ฮัจยีกะจิ๊ โดยมีฮัจญีหมัดสนับสนุน ปี 2481 จึงเป็นปีที่ฮัจญีกะจิ๊พร้อมทั้งลูกหลานกลุ่มใหญ่ประมาณ 20 ครอบครัวตัดสินใจเดินทางมายังคลองบางจาก และต่อมาก็มีกลุ่มญาติเพื่อผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขทยอยกันมาเป็นระยะจนเป็นหมู่บ้านที่มั่นคงสืบมา

                แน่นอน การโยกย้ายถิ่นฐานเกือบพันกิโลเมตรไปยังแผ่นดินที่แตกต่างทั้งธรรมชาติ ภาษาและวัฒนธรรม ไม่รู้ว่าจะต้องไปเผชิญชะตากรรมอย่างไร ย่อมต้องได้รับความเป็นห่วงใยจากญาติมิตรที่ผูกพันรักใคร่ตลอดมา การล่ำลา การอาลัยซึ่งไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกหรือไม่ การเตรียมการส่งในการเดินทานย่อมเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการเดินทางในสมัยนั้นเป็นการเดินทางโดยเรือเดินทะเล ต้องเผชิญกับคลื่นลมเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน หลายคนเมาคลื่นจนไม่สามารถกินอะไรได้

                ท่าน้ำราชวงศ์เป็นจุดที่รับส่งสินค้าและคนโดยสาร ญาติมิตรรอส่งมากมาย เรือที่ใช้เป็นพาหนะเดินทางชื่อ “วัลยา”จอดอยู่กลางแม่น้ำ ต้องใช้เรือเล็กลำเลียง ผู้โดยสารมาขึ้นเรือ ผู้คนต้องเสียน้ำตาเพราะต้องจากกันครั้งนี้มากมาย เรือฝ่าคลื่นลมมาจนถึงปลายทางคืออ่าวปากพนัง หน้าคลองท่าแพ โดยมีเรือลำเลียงเข้าฝั่ง สำหรับคณะของเรามีกลุ่มของฮัจญีหมัดและนายอับดุลเลาะห์เตรียมเรือมารอรับ แน่นอน ความอ่อนเพลีย ความไม่คุ้นเคยกับทะเล ทุกคนอ่อนระโหยโรงแรงประหนึ่งได้เกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง

                แผ่นดินใหม่ของแสงวิมาน คือ ป่าชายเลนที่แผ่นดินงอก ชายฝั่ง หนาแน่นด้วยไม้โกงกาง ไม่แสม ลำพู ริมคลองมีต้นจากตลอดคลอง จึงมีชื่อเรียกว่า “คลองบางจาก” ในลำคลองนอกจากกุ้ง ปู ปลา มากมายแล้ว  ยังมีจระเข้ชุกชุมเช่นกัน  เป็นป่าส่วนหนึ่งที่นายฮวง แซ่ตั้ง       ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้รับสัมปทานเผาถ่าน การที่ชาว แสงวิมานได้มาอยู่ในที่แห่งนี้ได้สร้างความอบอุ่นแก่เขาอย่างมาก จึงให้ความสะดวกเป็นอย่างดี โดยการให้ที่ดินส่วนที่ตัดไม้ไปแล้วเป็นที่จับจองและป่าอีกส่วนหนึ่งได้จัดซื้อสิทธิ์จากผู้ปกครองมือเปล่ากว้าง 1 เส้นหน้าคลองเส้นละ 5-10 บาท ลึกเข้าไปในป่าไม่มีเขตแน่นอนโดยใช้เขตป่าสงวนเป็นหลัก เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงยื่นจับตองต่อทางราชการรวมเป็นที่ดินทั้งหมดประมาณ 1,500ไร่

                สิ่งแรกของชุมชน คือ บ้านที่อยู่อาศัยระดมกันตัดไม้ป่ามาทำเสา ขื่อ แป เย็บจากมุงหลังคา โดยร่วมกันทำทีละหลัง ๆ พอได้อาศัยคุ้มแดด กันฝน สร้างมัสญิด เพื่อปฏิบัติศาสนาและให้การศึกษาแก่ลูกหลาน โดยใช้ไม้ป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งแชจิ๊ท่านขอให้ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าน นายอับดุเลาะห์จึงได้อุทิศ ที่ดินเพื่อทำมัสญิดและสุสาน เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน สร้างมัสญิดตามความประสงค์ของแชจิ๊ แชจิ๊ได้มอบหมายให้นายมุฮัมมัดอาริฟีน(แชฟีน) ลูกชายคนหนึ่งของท่านเป็นอิมาม นายผ่อง ภู่ทับทิม และนายมูฮัมมัด รอช้าด หลานของท่านเป็นบิหลั่น

                ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่น่าจะบอกเล่าให้ลูกหลาน ผู้สนใจได้ทราบไว้บ้าง แสงวิมานกว่าจะอยู่ดีมีสุขเช่นปัจจุบัน บรรพชนของเราต้องฟันฝ่าสร้างแผ่นดินมาด้วยความยากลำบากแสนสาหัส ทั้งภัยจากสัตว์ร้าย เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นอันตรายทางน้ำอย่างมาก ต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา ปรากฏว่าในช่วงต่อมามีนักปราบจระเข้มาจากมาเลเซียร่วมกับพี่น้องบ้านปากพญามาล่าจระเข้เพื่อเอาหนังไปขาย โดยใช้เครื่องมือง่าย ๆ คือ ชนักและตะเกียงส่องกลางคืน ในที่สุดจระเข้ก็หมดไปจากคลองบางจาก

                ภัยจากคน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และแก้ไขลำบาก ภัยจากโจรผู้ร้าย บริเวณนี้เป็นแหล่งโจรที่ดักปล้นชาวเรือเหนือจากอำเภอร่อนพิบูลย์ซึ่งนำผลผลิตจากสวน มีหมาก พลู และผลไม้ต่าง ๆ ไปขายยังตลาดปากพนังยากแก่การปราบปราม เรือเหนือเหล่านี้จึงต้องมากันเป็นกลุ่มเป็นขบวน ผูกเรือติดกันเพื่อง่ายต่อการช่วยเหลือและต่อสู้ แน่นอนพวกเราก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของโจร ค่านิยมที่เอื้อประโยชน์ต่อโจร คือ การอยู่แบบตัวใครตัวมัน แม้บ้านเมืองจะจับกุมโจรได้ ก็ไม่กล้าเป็นพยานแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อิทธิพลของโจรจึงเต็มบ้านเต็มเมือง และบางครั้งผู้รักษากฎหมายก็เป็นโจรเสียเองหรือสนับสนุน หากินกับโจร ดังนั้นด้วยการร่วมมือกันต่อสู้แสงวิมานจึงอยู่รอดตลอดมา

                เรื่องปัญหาที่ดิน เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้ยาวนาน กฎหมายจับจองคุ้มครอง ระยะสั้นต้องปรับปรุงทำประโยชน์เพื่อให้มีหนังสือรังรองที่ดีกว่า คือ น.ส.3 การเร่งรัดรวมกลุ่มแรงงาน เอาแรงเพื่อพัฒนาหักร้างถางป่า ซึ่งหนาแน่นด้วยไม้นานาชนิด บางต้นมีขนาดหลายคนโอบ กว่าจะโค่นลงกว่าจะรานกิ่ง กว่าจะเผาใช้เวลานานเป็นปี ไหนจะต้องหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพ ต้องรับจ้างตัดไม้เผาถ่าน รับจ้างเก็บข้าวเพื่อได้เก็บไว้กิน ขณะนั้นไม่มีโรงสีจำเป็นต้องตำข้าวด้วยครกด้วยมือ ความล่าช้าเหล่านี้เป็นเหตุให้ชาวพื้นเมืองบางกลุ่มใช้โอกาสบุกรุกช่วงชิงที่ดินจนต้องมีการขัดขวางต่อสู้ด้วยกำลัง บางครั้งผู้บุกรุกเกณฑ์คนนับร้อยหลายครั้งเกือบต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อ  เพราะการต่อสู้ที่เหนียวแน่นของชาวบ้านแสงวิมาน เหตุร้ายต่างๆเหล่านี้ จึงผ่านไปด้วยดี  บุคคลผู้นำในการต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีความสำคัญ คือ นายชลอ(ครูโซะห์)หลานคนหนึ่งของแชจิ๊ ในฐานะที่เป็นนักเรียนเก่าอำนวยศิลป์ ซึ่งเป็นสถานศึกษาชั้นนำของกรุงเทพฯ ยุคนั้น นักเรียนจากสถาบันนี้ได้เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นข้าหลวง นายอำเภอ หัวหน้าแผนก เป็นอัยการ ผู้พิพากษา ท่านได้ใช้ประโยชน์จากสถานบันแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมู่บ้าน เป็นที่หวั่นเกรงแก่อันธพาลทั้งหลาย

บุคคลอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในเรื่องที่ดิน คือ นายสวัสดิ์(ฝอย) วัฒนเวส ผู้ประสานงานกับแผนกที่ดินจัดทำ น.ส. 3 ในปี 2492 ทำให้การถือครองที่ดินมีความมั่นคงขึ้น

                ผลงานของนายชะลอได้ขยายตัวใกล้ชิดกับจังหวัด คือ ข้าหลวง หลวงภักดีณรงค์ฤทธิ์ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้นโยบายสวนครัว เลี้ยงสัตว์เพื่อพึ่งพาตนเองในยุคสงครามญี่ปุ่น จังหวัดขาดประสบการณ์ แต่แสงวิมานได้ปฏิบัติอยู่แล้ว จึงได้รับการขอร้องให้ชาวแสงวิมานไปช่วยแนะนำ สาธิตเป็นตัวอย่างแก่อำเภอต่าง ๆ ที่ตำบลยวนแหล ตั้งแต่นั้นมาเกิดความเกี่ยวพันระหว่างแสงวิมานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกือบทุกคนจะมาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านแสงวิมานและให้ความช่วยเหลือ หลังจากนายชลอกลับกรุงเทพฯ นายสวัสดิ์ได้สานต่อ หลังนายสวัสดิ์ก็ได้มีคนรุ่นหลังสืบสานต่อปัญหาที่ดินระหว่างบุคคลจบลง แต่กลับมีปัญหากับทางราชการ คือ เรื่องเขตป่าซึ่งยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

                การเปิดป่าสำเร็จลงการเพาะปลูกเริ่มขึ้น งานแรก คือ เผาป่าแล้วทำนาเก็บข้าวเสร็จ ลงมือขุดสวนเป็นขนัดสวนแบบภาคกลาง นำพันธุ์ไม้จากกรุงเทพฯ มะพร้าว กล้วย อ้อย ส้ม ละมุด รูปแบบภาคกลางทั้งรูปแบบสวนและพันธุ์ไม้ มุ่งเน้นพืชที่จำเป็นต่อการบริโภค ลดการซื้อ มองตลาดซื้อง่ายขายคล่อง เน้นการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์ทุกตารางวา สร้างการทำงานตลอด 12 เดือน ให้มีรายได้ประจำวัน (พืชล้มลุก) ประจำเดือน ประจำปี คนหนุ่มสาวในวัยทำงานตื่นตัวกันมากทำงานเป็นกลุ่ม ศึกษาค้นคว้าตำราการเกษตร ตั้งห้องสมุดประจำหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2501 นำกลุ่มออกทัศนศึกษาดูงานเป็นสมาชิกของราชการส่งเสริมยุวเกษตรกร เคยได้รับเลือกเป็นยุวเกษตรกรแห่งชาติ กลุ่มชาวนา หน่วยปราบศัตรูพืช งานปศุสัตว์ งานประมง ฯลฯ หมู่บ้านได้เข้าไปสัมพันธ์ตลอดมา จึงกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ช่วงของการตั้งหมู่บ้านในปี 2481 ได้เจริญเติบโตมาเป็นลำดับ ผลงานมากขึ้น ฐานะดีขึ้น บ้านเรือนได้รับการปรับปรุงดีขึ้น ลูกหลานได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม

                ปี 2482 ได้เปิดโรงเรียนประชาบาลของตนเองขึ้น ครูใหญ่คนแรก คือ ครูวัลภา เมื่อเด็กจบป. 4 หลายคนได้ส่งไปเรียนต่อที่ปากลัดซึ่งในยุคนั้นรุ่งเรืองมาก ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เยาวชนแสงวิมานได้นำมาพัฒนาเป็นประโยชน์ ยุวชนมุสลิมยุคแรกทำผลงานและชื่อเสียงเป็นแบบอย่างแก่จังหวัดต่อมา

                ช่วงนี้ความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ใกล้ชิดขึ้น ญาติพี่น้องจากกรุงเทพฯ เดินทางมาสู้แสงวิมานมากมาย เมื่อเดินทางกลับก็จะมีของฝากติดไม้ติดมือจากผลงานของหมู่บ้าน มีค่าพาหนะเดินทาง เป็นการเยี่ยมเยือนและพักผ่อนหย่อนใจ หลายคนทำการค้านำของจากกรุงเทพฯ มาขาย ขากลับนำสินค้า กะปิ ใบจาก ทุเรียนกวนและอื่น ๆ ต่อมาการเดินทางสะดวกขึ้น มีการเดินทางโดยรถไฟสะดวกและปลอดภัย ยุคทองของแสงวิมานดำเนินมาเป็นเวลา 25 ปี จนถึง พ.ศ. 2505 เข้าสู่ยุคของความตกต่ำ ความเดือดร้อนลำบากยากเย็นแสนสาหัส

มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุกกับความตกต่ำ

                สาเหตุของความตกต่ำ คือ มหาวาตภัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2505 พายุโซนร้อน ”ลูซี่” มีความเร็ว 104 ก.ม./ช.ม. มีศูนย์อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีรัศมีกระทบตั้งแต่ชุมพรถึงนราธิวาส แหลมตะลุมพุกถูกพายุกวาดบ้านเรือนและผู้คนลงทะเลเสียชีวิตนับพัน ๆ คน ความเร็วลมทำให้ต้นไม้ราบเป็นหน้ากลอง มีคลื่นสูง 4-5 เมตร แสงวิมานอยู่ในแนวศูนย์กลางของพายุด้วย ลักษณะของพายุมีการก่อตัว มืดครึ้ม ฝนพรำ 2-3 วัน วันที่ 25 ตุลาคม 2505 พายุเริ่มประมาณ 3 ทุ่ม เป็นลมจากทิศเหนือ ค่อย ๆ เพิ่มความแรงขึ้นจนเกิดเป็นประกายวูบวาบอาจเป็นการเสียดสีของกิ่งไม้ (รุ่งเช้าจะเห็นใบไม้บางชนิด เช่น ใบไผ่แห้งเหมือนถูกไฟลน) พายุแรงอยู่ประมาณ 4-5 ชั่วโมง ไดหอบน้ำทะเลกวาดโคลนตมในอ่าวขึ้นฝั่ง ทับถมอยู่ตามที่สวนที่นาหนาเป็นศอก ทะเลเหลือแต่ดินแข็ง ลมได้หยุดพักประมาณ 15 นาที ทำให้ผ่อนคลายความหวาดหวั่นของชาวบ้านซึ่งเหมือนหัวใจหยุดเต้นลงได้บ้าง ลมเปลี่ยนทิศพัดไปทางใต้ พัดเอาน้ำ บ้านเรือน ต้นหมากรากไม้ไหลไปกับน้ำลงทะเลเป็นจำนวนมาก ช่วงนี้ใช้เวลาสองชั่วโมง จึงสงบ หลังพายุปรากฏว่าบ้านเรือนประมาณ 130 หลัง เหลือเพียง 18 หลัง เหลือแต่โครง ยังโชคดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต สภาวะจิตของผู้คนในยามนั้นสุดจะบรรยายได้ ตกใจสุดขีด เสียขวัญ ทุก ๆ ปีเมื่อย่างเข้าสู่เดือนตุลาคมผู้คนจะรู้สึกหวาดหวั่นติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี เป็นความเสียหายที่เรียกว่า หมดตัวต้องขึ้นต้นนับหนึ่งใหม่ พร้อมทั้งมีหนี้สินจากการเลี้ยงเป็ด จากการกู้ยืมเงินสหกรณ์ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 คนละหลายพันบาท เป็นปัญหาคุกคามชีวิตที่ยาวนาน

                สาเหตุที่ 2 ที่สร้างความยากจนยาวนานต่อเนื่อง คือ การปิดกั้นน้ำจืดของคลองบางจากที่บานหัวสะพาน ได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2500 เป็นโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่จะพัฒนาแหล่งข้าวของจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวผืนใหญ่ของภาคใต้ มีเนื้อที่ 5-6 แสนไร่ปากพนังยุคนั้นจึงเป็นเสมือนเมืองท่าที่ต่างประเทศมาซื้อข้าวไปกิน ริมแม่น้ำจะมีโรงสีขนาดใหญ่เรียงรายอยู่นับสิบโรง การทำประตูระบายน้ำที่นี่เป็นการควบคุมน้ำเค็มบางปี บางฤดูที่น้ำเค็มจะขึ้นไปถึง นอกจากนี้คลองนี้ยังเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใช้ทำน้ำประปาเลี้ยงชาวปากพนังด้วย แต่เป็นการตัดสายน้ำที่มาหล่อเลี้ยงชาวบ้านแสงวิมานเป็นผลให้คลองบางจากตั้งแต่ใต้ประตูระบายน้ำบางจากไป จนถึงปากทะเลเป็นคลองน้ำเค็มไปทันที สวนผลไม้และนาทั้งหมดได้รับความสูญเสียจากพายุมาแล้วมาถูกซ้ำเติมด้วยภัยน้ำเค็มเข้าอีก บ้านแสงวิมานจึงถึงจุดจบ ถ้าหากเราไม่ยึดหลักการต่อสู้เพื่อท้องถิ่นของเรา ดังนั้นการฟื้นฟูจากภัย 2 สาเหตุดังกล่าวจึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่เป็นประวัติที่น่าสนใจของกลุ่มต่าง ๆ ที่มาเยี่ยมเยือน

                หลังพายุสงบลง พวกเราผู้นำสำรวจความเสียหาย ไม่มีการเสียชีวิตบ้านเรือนหลายสิบหลังถูกน้ำพาลงทะเลหลายคนเหลือผ้าเพียงผืนเดียว ส่วนข้าวปลาอาหารไปกับน้ำ น้ำจืดไม่มีดื่ม โอ่งน้ำถูกน้ำเค็มเข้าแทนที่ ยังมีโคลนอยู่ครึ่งค่อนโอ่งปัญหาสำคัญคือความหิวโหย ไม่มีข้าวจะกินจึงจัดการรวบรวมหุงข้าวปลาที่เหลืออยู่บ้างจัดเป็นครัวกลางพอประทังชีวิต ในขณะเดียวก็นำปัญหานี้เข้าร้องรอขอความสงเคราะห์จากอำเภอ ปรากฏว่าที่อำเภอมีชาวแหลมตะลุมพุกเข้ามารอความช่วยเหลืออยู่จำนวนหมื่น ถนนหนทางถูกตัดขาดโรงสีทังหลายทำงานไม่ได้ ข้าวของโรงสีเสียหายเกือบหมด อำเภอจึงช่วยไม่ได้ วันแรกได้ข้าวจากโรงสีมา 2 กระสอบ ได้เสื้อผ้าจากสมาคมจีน 3กระสอบ มาแบ่งปันกัน ปัญหาเรื่องเสื้อผ้าและอาหารยังเป็นปัญหาที่มืดมน จึงจัดการโทรเลขไปยังพี่น้องที่ปากลัด นับเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ขณะนั้นที่ปากลัดมีกิจกรรมทำบุญรวมญาติอย่างพร้อมเพรียงกัน ที่บ้านโต๊ะกีดำ ผู้อาวุโสท่านหนึ่ง พี่น้องชาวปากลัดได้รวบรวมข้าวของจำนวนมากพร้อมทั้งเงินสดเพื่อนำมาซื้อข้าวสารที่จังหวัดนครศรีฯ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่ง คือ ฮัจญีมุด ระดิ่งหิน ด้วยนิสัยที่เป็นคนใจกว้างและชอบช่วยเหลือสังคม ท่านได้รับอาสารวมปัจจัย ข้าวของ เสื้อผ้า เงินทองเพื่อนำไปช่วยชาวบ้านแสงวิมาน ท่านตั้งกรรมการจากถิ่นต่าง ๆในภาคกลางผลงานท่านและคณะทำให้ชาวแสงวิมานได้มีขวัญกำลังใจยืนขึ้นตั้งตัวได้อีกครั้งหนึ่งพอที่จะมีโอกาสมองหาทิศทางที่จะช่วยตัวเองได้ต่อไป

                การสงเคราะห์จากทางราชการมีผลน้อยมาก มีการโกงกิน ทุจริตกันอย่างมโหฬาร ประกอบกับความสูญเสียมีบริเวณกว้าง เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทยก็ว่าได้

                การสงเคราะห์จากท่านจุฬาราชมนตรี (ต่วน สุวรรณศาสน์) ชุดแรกไม่ถึงแสงวิมาน ขณะที่พวกเราไปพบท่าน ปรากฏว่าสิ่งของหมด ท่านจึงแสดงความเสียใจ เพราะพี่น้องจากกรุงเทพฯ ได้ฝากแสงวิมานไวกับท่านในครั้งต่อมา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2506 ท่านจึงได้ไปสงเคราะห์และเยี่ยมเยือนถึงบ้านแสงวิมาน

                และสืบเนื่องจากการสงเคราะห์ครั้งนี้ ฮัจญีมุด ระดิ่งหิน จึงคิดที่จะก่อสร้างมัสยิดให้แก่ชาวบ้านแสงวิมานแทนหลังที่เสียหายจากวาตภัยในโอกาสต่อมา

                ส่วนในการแก้ปัญหาอาชีพ ปัญหาน้ำเค็ม เป็นงานที่ต้องต่อสู้จนคนส่วนหนึ่งต้องหมดกำลังใจและโยกย้ายกลับกรุงเทพฯ บ้างย้ายไปจังหวัดอื่น ๆ เช่น ยะลา สตูล กระบี่ ระนอง หลายแห่งประสบความมั่นคงใหม่ขึ้น เช่น นิคมควนกาหลง จังหวัดสตูล และนิคมคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ตามความเข้าใจของชาวบ้านคิดว่าจะฟื้นฟูปรับปรุงต้นไม้ขึ้นใหม่ อาจใช้เวลาบ้าง 1-2 ปี แต่เมื่อปรากฏว่าแผนดินส่วนนี้ต้องเป็นเขตน้ำเค็มถาวรเพระน้ำจืดถูกกักเก็บไว้ส่วนบน เว้นแต่ฤดูฝนน้ำท่วมจึงปล่อยลงมา

                ด้วยความรักในพวกพ้องและผืนแผ่นดินด้วยร่างที่ถูกฝังอยู่ในสุสานของบรรพชนผู้ต่อสู้หาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานและอีกหลายเหตุผล พวกเรากลุ่มนี้จึงคิดพยายามต่อสู้ฟื้นฟูแสงวิมานกลับมาให้ได้ คิดหาวิธีการอาชีพใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์งานประมงพอมีแนวทาง เริ่มจับจองทะเล ขณะนั้นงานประมงเริ่มพัฒนามีการใช้เครื่องยนต์เป็นเครื่องทุ่นแรง มีการทออวนด้วยเครื่องจักรจึงจับงานประมงเรือรุน เรือลาก งานทะเลก็พบปัญหาอุปสรรคไม่น้อยเช่นกัน คือต้องต่อสู้กับโจรปล้นเครื่องยนต์ โจรเกิดขึ้นเต็มอ่าวปากพนัง ทั้งโจรจริงและโจรแก้แค้นแสงวิมานรอดมาได้เพราะสู้จริงและร่วมกันสู้

                บนผืนดินสวน เปลี่ยนการเพาะปลูกพืชระยะยาวมาเป็นพืชระยะสั้น ได้ศึกษางานสวนผักจากปากลัด อิมามฮัจญีอัสอารีนำวิธีการทำสวนผักของชาวจีนไปทำที่แสงวิมาน ผักเป็นพืชระยะสั้นใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน (ผักคะน้า ผักกาด ผักชี ต้นหอม) อาศัยน้ำที่เก็บไว้ในร่องสวน บางครั้งประสานงานกับประตูระบายน้ำเพื่อเปิดน้ำจืดลงมาแล้วใช้สูบน้ำสูบเก็บไว้ การขาดน้ำจืดเป็นความยากลำบากทั้งคน สัตว์ ต้นไม้ น้ำอาบ น้ำใช้ การเลี้ยงเป็ดไข่ต้องใช้เรือไปบรรทุกน้ำจืดมาเลี้ยงเป็ด ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร งานเหล่านี้จึงช่วยยืนขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

                ความคิดความพยายามเพื่อให้ได้น้ำจืดกลับคืนมายังฝังใจและถ้าขาดน้ำจืดความมั่นคงของพวกเราจะอยู่ไม่ได้ กลุ่มผู้นำได้ประสานงานกับทางราชการ คือ กรมชลประทาน ได้พยายามติดต่อชลประทานที่ 11 ได้รับความเห็นใจในสมัย คุณเกื้อ นวลจันทร์ เป็นผู้อำนวยการ ได้ลงมาช่วยเหลือสิ่งที่ทำได้คือเปิดน้ำจืดให้เป็นครั้งคราว วิธีการนี้ก็ไม่ค่อยจะมีผลอะไรมากนัก เพราะบางทีก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนน้ำเค็ม ปล่อยมากเกินก็เกิดปัญหาส่วนบนเขาแห้งกลายกรณีพิพาท       เพราะผลงานที่เด่นของ แสงวิมานที่ราชการต้องรักษาไว้เพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนา ราชการจึงพยายามอย่างมากเช่นกัน หลังจากชลประทานที่ 11 ได้ย้ายมาตั้งที่ปากพนังการประสานงานจึงง่ายขึ้นระดับหนึ่ง แต่การขัดแย้งระหว่างน้ำจืดกับแสงวิมานยังคงยืดเยื้อตลอดมา

                การแก้ปัญหาที่ได้ผลอย่างชัด เมื่อ พ.ศ. 2511 เมื่อรัฐบาลมีแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ (ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เลขาธิการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขณะนั้นคือ คุณประหยัด บูรณะศิริ ได้ไปตรวจงานแผนพัฒนา แผนที่ 1 จังหวัดซึ่งห่วงใยแสงวิมานอยู่ จึงประชุมพบปะราษฎรเพื่อปรึกษาหารือปัญหาที่วัดกัลยานฤมิตร ปัญหาใดเป็นเรื่องของท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นแก้ไข ปัญหาเดียวในวันนั้นคือ ปัญหาน้ำของแสงวิมาน ท่านเลขาฯขอให้เสนอวิธีแก้ไข เราจึงเสนอวิธีแรก คือ การทำประตูระบายน้ำเพิ่มที่ปากทะเล (บ้านแสงวิมาน) คณะที่ปรึกษาของได้คำนวณค่าก่อสร้างกับผลที่ได้รับของจำนวนที่ดิน จุดคุ้มทุนไม่เหมาะสม เราจึงเสนอวิธีที่ 2  คือ ทำการปิดน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสูญเปล่าที่คลองเปี๊ยะ แล้วขุดเบนสายน้ำให้ไหลลงที่แสงวิมาน เป็นระยะทาง 5 กิเมตร คำนวณค่าใช้จ่ายจำนวน 200,000 บาท ท่านจึงรับโครงการนี้โดยให้ทางจังหวัดทำโครงการส่งไปและงานขุดคลองใหม่ก็ได้เริ่มดำเนินในปีนี้เอง ใช้เวลาทำงานภายใน 2 เดือน ซึ่งอำเภอมอบให้ชาวบ้านแสงวิมานดำเนินการ

                สายน้ำจืดเกิดขึ้น ความเดือดร้อนยาวนานของบริเวณนี้ได้ผ่อนคลาย แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่คือ ต้องมีคันกั้นน้ำเค็มไม่ให้ทำลายน้ำจืด เพระระดับน้ำเค็มจากทะเลบางช่วง บางจังหวะสูงกว่า 1-2 เมตร ชาวบ้านแสงวิมานซึ่งคิดลงมือขุดคันกั้นน้ำเค็มเพื่อล้อมหมู่ไว้แล้วก่อนนี้ประมาณ ½ กิโลเมตร ตั้งใจว่าจะทำจนสำเร็จ อาจใช้เวลาหลายปีก็ตาม ขณะนั้นประจวบกับโครงการนาสองครั้งของรัฐบาลเกิดขึ้น โดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของเรื่อง การทำนาในภาคใต้หลายจังหวัดไม่ประสบผลสำเร็จ ผลผลิตต่ำไม่คุ้มทุน หัวหน้าโครงการขณะนั้นคือ คุณประชา ลาภะนันท์จึงมาปรึกษา ขอให้ชาวบ้านแสงวิมานทำนา 2 ครั้ง แสงวิมานประสงค์จะได้คันกั้นน้ำเค็มจึงต่อรองที่จะอาสาเรื่องนี้กับทางราชการซึ่งได้รับคำมั่นว่า ถ้าทำนาสองครั้งสำเร็จ ทางราชการจะทำคันกั้นน้ำเค็มให้ ในปี 2512 แสงวิมานจึงทำนาสองครั้งจำนวน 400 ไร่ ครั้งแรกทำผลผลิตสูงสุดไร่ละ 57 ถัง ทำครั้งที่สองได้ผลผลิตไร่ละ 72 ถัง เป็นผลงานที่เป็นความสำเร็จของทางราชการ กระทรวงและกรมกองที่เกี่ยวข้องลงไปดูผลงานลำนำเกษตรกรไปดูงาน บางครั้งมีจำนวนถึง 400 คน

                คำสัญญาเรื่องคันกั้นน้ำเค็มได้เริ่มขึ้น เป็นงบผูกพันใช้เวลา 3 ปี ตามอำนาจของกรมปกครองที่มีอยู่ เดิมคิดจะทำเฉพาะแสงวิมาน แต่ได้รับการร้องขอจากผู้นำท้องถิ่นใกล้เคียงเพื่อให้เกิดผลกว้างขวางในอนาคต จึงเริ่มจากถนนนคร-ปากพนัง ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ รวม 7 หมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร และคงจะเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการคิดกั้นน้ำเค็มของประชาชนปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นแผนสัญจรและขนส่งผลิตผลสะดวกขึ้นคันกั้นน้ำเค็มนี้ชาวแสงวิมานต้องมีภาระปรับปรุงหลายประการต้องวางแผนกับกรมชลประทาน ขอทำประตูระบายน้ำท่วมตามจุดต่าง ๆ โดยตรงได้จัดทำไว้ 7 แห่ง และบางปีน้ำมากท่วมคันกัดเซาะขาด ต้องนำแรงงานไปปิดกั้นช่วงต่อมาจึงเสนอโครงการขุดเสริมให้สูง ขึ้นและขยายคลองเพื่อความสะดวก ต่อการใช้น้ำ ซึ่งได้รับผลในปี 2532

                งานทำผิวถนนเป็นความยากลำบากอีกเรื่องหนึ่ง เพราะที่มาของถนนเกิดจากผลงานของประชาชน ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบ ในสมัยท่านนายกเกรียงศักดิ์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องนี้ ส.ส.สมัยนั้น คุณจรัส โพธิศิริ ได้ช่วยประสานงานปรากฏว่าจังหวัดไม่ทราบจึงหาเจ้าของไม่ได้จำเป็นต้องอาศัยเงินที่เหลือจากอำเภอต่าง ๆ มาทำ 1-2 แสนบาท เป็นความยากลำบากอย่างยิ่งจนช่วงต่อมาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2528 และเหตุการณ์น้ำภูเขาถล่มทลายบ้านคีรีวงค์และอำเภอพิปูน เมื่อปี 2532 โครงการพระราชดำริเกิดขึ้น กองทัพภาคที่ 4 เป็นจุดเริ่มโครงการ ครั้งนั้นดำริให้ขุดคลองต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการแก้ไขระยะยาวเป็นระบบ คือ โครงการลุ่มน้ำปากพนังในปัจจุบัน

                เริ่มโครงการปี 2532 โดยกองทัพภาคที่ 4 เป็นแกนนำ มีการประชุมหาแนวทาง ผลกระทบ ทางได้ทางเสีย ได้ประชุมกันหลายระดับเจ้าหน้าที่ แบ่งสายความรับผิดชอบแสงวิมานได้รับเกียรติเชิญเข้าประชุมด้วยส่วนสำคัญที่ให้แก่แสงวิมานคือ รูปแบบการเกษตรแบบผสมผสานที่ปฏิบัติอยู่ ผู้แทนสภาพัฒน์ฯ ได้เข้าศึกษาและเห็นชอบสภาพัฒน์ฯ จะจัดงบประมาณทำถนนมาตรฐานลาดยางหรือคอนกรีตในวงเงิน 12 ล้านบาท ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตรเพื่อผู้ใหญ่จะได้สะดวกในการเดินทางไปดูงานโอกาสนี้แสงวิมานจึงเสนอขอให้สภาพัฒน์ฯ เพิ่มโครงการทำสะพานข้ามคลองบางจากที่แสงวิมานเชื่อมกับถนนที่มีอยู่แล้วของอำเภอเมือง เพื่อการเดินทางเข้าจังหวัด สภาพัฒน์ฯได้รับโครงการนี้ เพราะเดิมเราทำแพเล็ก ๆ จากถังน้ำมันใช้ข้ามติดต่อกับฝั่งอำเภอเมืองซึ่งมีถนนเลียบชายฝั่งอำเภอเมืองซึ่งมีถนนเลียบชายฝั่งทะเลไปบรรจบกับถนนสายปากนครเข้าสู่ตัวเมืองและถนนจากฝั่งอำเภอปากพนังที่แสงวิมานเชื่อมอำเภอเมือง ได้ทำการก่อสร้างสะพานคอนกรีตมาตรฐาน งานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในปี 2535 การคมนาคมของแสงวิมานจึงได้รับความสะดวกขึ้นมีทางออกสู่ถนนใหญ่เป็น 4 เส้น

                ปัจจุบันโครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ทางรัฐบาลและประชาชนตอบสนองกันอย่างดี โครงการนี้จะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท โดยได้สร้างพระตำหนักที่ประทับเป็นสิ่งแรกในอนาคตนครศรีธรรมราชจะฟื้นตัวและเป็นแบบอย่างการพัฒนาที่ยั่งยืน การเกษตรทุกสาขา และควบคุมรักษาสิ่งแวดล้อม บ้านแสงวิมานได้ถูกกล่าวขานในลักษณะตัวอย่างของนักสู้ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มีรูปแบบของตัวเองที่ชัดเจนการเข้ามาศึกษาดูงานของหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นงานหนักของชาวบ้านแสงวิมานพอสมควร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจังหวัดให้ความสนใจมาโดยตลอด อ้างอิงเป็นตัวอย่างในการประชุมอยู่เสมอ

                ในสมัยนายจันทร์ สมบูรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนวาตภัย ได้เชิญชวนอำเภอต่าง ๆ มาดูงาน สมัยที่นายสันต์ เอกมหาชัย ผู้ว่าฯนักพัฒนานำหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ มาเยี่ยม ได้กล่าวกับคณะว่า “แสงวิมานคือเมืองจำลองของกรุงเทพฯ” สมัยนายอเนก สิทธิประศาสน์ ได้ให้ความสนิทสนมเป็นอย่างดีกับชาวแสงวิมานในขณะทีท่านเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ท่านห่วงใย ได้ฝากฝังบ้านแสงวิมนแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนที่มารับตำแหน่งในจังหวัดนี้   นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนจะต้องมาเยี่ยมเยียน รวมทั้งส่วนราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ใช้บ้านแสงวิมานเป็นสถานที่อบรมดูงานของอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน โรงเรียนสอนศาสนาในสี่จังหวัดภาคใต้ ในฐานะที่หมู่บ้านแสงวิมานเป็นหมู่บ้านมุสลิม ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศชาติ ดำเนินชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม

                บรรพชนของบ้านแสงวิมาน ได้สร้างรูปแบบอย่างมากมายในหลายๆด้าน ผลงานต่างๆเหล่านั้น ก่อให้เกิดผลอย่างกว้างขวางยาวนาน หลายๆกิจกรรมได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีงามแก่คนในสังคมบ้านแสงวิมานเอง และสังคมโดยรอบด้าน ทั้งใกล้ไกล อย่างเช่น วัฒนธรรมการลงแขก ร่วมกันทำงานมาอย่างได้ผล สิ่งเหล่านี้ทำให้แผ่นดินที่เป็นป่าไม้ เต็มไปด้วยความโหดร้าย กลายมาเป็นสวนผลไม้ เป็นชุมชน เป็นเมืองแห่งชนบทที่มีการกล่าวถึง ความร่วมมือร่วมใจ เหล่านี้คือวัฒนธรรมหนึ่งในหลายๆร้อยอย่างที่บรรพชนได้ฝากเป็นมรดกไว้

                อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วชาวแสงวิมานได้นำรูปแบบยุวมุสลิมจากบ้านปากลัด ซึ่งชาวแสงวิมานหลายคนได้มีโอกาสไปศึกษาอยู่ที่นั้นมาใช้ และเป็นยุวมุสลิมแรกในจังหวัดนครศรีธรรมราช การรวมตัวทำกิจกรรมของเยาวชนยุคนั้น ในนามของยุวมุสลิม ได้สร้างเยาวชนให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ผลงานของยุวมุสลิมในอดีตได้ส่งผลให้จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตั้งยุวมุสลิมกลางขึ้น โดยมีคุณวิชัย แสงวิมาน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานยุวมุสลิมกลางนครศรีธรรมราชเป็นคนแรก ยุวมุสลิมกลางเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารยุวมุสลิมในจังหวัดนครศรีธรรมราช

                การพัฒนายุวมุสลิมของบ้านแสงวิมานในยุคนั้น ไม่ได้อยู่แค่ในหมู่บ้านเท่านั้น แต่ได้ขยายสู่สังคมอื่นๆด้วยบทบาทที่โดดเด่นยิ่ง จึงจำเป็นต้องตระหนักในการค้นคว้าข้อมูล ห้องสมุดได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่เยาวชน โดยการริเริ่มและประสานงานอย่างใกล้ชิด  โดยคุณเสน่ห์ ซอแก้ว (แชริด) มีการฝึกฝนการอ่าน การพูด รู้จักคิด ติดตามข่าวสาร ผลงานเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ได้สร้างเยาวชนในยุคนั้นให้เป็นผู้นำมาแล้วหลายคน ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเป็นกำลังใจเสมอมา คือ คุณสมหวัง(แชหวัง)  มัสแหละ (ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม)

                สังคมแสงวิมานเป็นสังคมเชิงเปิด การไปมาหาสู่ของบรรดาเครือญาติ มีผลให้วัฒนธรรมสมัยใหม่หลายอย่างเข้ามาผสมกลมกลืนกับชีวิตความเป็นอยู่ บางส่วนได้นำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับสังคมของเรา จึงกลายเป็นความแตกต่างกับสังคมใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด โครงสร้างการอยู่ร่วมกันของสังคมได้ถูกกำหนดขึ้นโดยปริยายจากแบบอย่างการปฏิบัติของบรรดาผู้นำและคนผู้ใหญ่ๆ จึงส่งผลต่อเนื่องถึงเยาวชนรุ่นต่อๆมา

 

ยุคทองทางด้านคุณธรรมและวัฒนธรรม

                ยุคทองทางด้านการพัฒนาคุณธรรมและวัฒนธรรม ของบ้านแสงวิมาน เริ่มตั้งแต่ปี 2524 ในขณะที่ฮัจยีอัสอารี แสงวิมาน เป็นอิหม่ามในขณะนั้น ครูฮัจยีสุอิบ แสงวิมาน น้องชายของท่านได้ศึกษาทางด้านศาสนาจากครูฮัจยีอับบาส แสงวิมาน และครูท่านอื่นๆจากปากลัด ท่านเป็นผู้มีความรู้ด้านศาสนาเป็นอย่างดี ทำการสอนอยู่ที่ปากลัด ในปี 2524 ครูฮัจยีสุอิบ แสงวิมานได้เดินทางกลับมายังถิ่นฐานของท่านตามปณิธานของบิดาท่าน การดำเนินการด้านการศึกษาเป็นไปอย่างจริงจัง มีการสร้างโรงเรียนสอนศาสนาในระดับสูงขึ้นไป ด้วยความคิดที่ว่าต้องสอนทั้งครอบครัว จึงจัดอบรมจริธรรมแก่สัปบุรุษทุกระดับ ทั้งพ่อบ้าน แม่บ้าน มีการจัดอบรมเยาวชนในระดับเด็กๆ ผู้คนในสังคมมีการตื่นตัวในด้านคุณธรรม คนส่วนใหญ่ได้นำคำสอนมาปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มัสยิดถูกใช้อย่างคุ้มค่า สตรีมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา คลุมศีรษะ(ฮิญาบ) จนเป็นแบบอย่างแก่สังคมอื่นๆโดยทั่วไป โดยเฉพาะสังคมมุสลิมต่างชมเชย ให้สมญาว่าเป็นหมู่บ้านมุสลิมตัวอย่างบ้าง หมู่บ้านฮิญาบบ้าง โดยมีกลุ่มคนหนุ่มหลายคนเป็นผู้ร่วมกันผลักดัน

                ยุคนี้เช่นกันได้มีกิจกรรมหลายๆอย่างเกิดขึ้น เช่น รายการเสียงรอมฎอน เป็นรายการที่เยาวชนกลุ่มหนึ่งได้จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางศาสนาแก่ผู้ถือศิลอด การจัดทำเสียงตามสาย โดยกลุ่มเสียงรอมฎอน ซึ่งทำให้ภายในหมู่บ้านได้รับฟังข่าวสารและความรู้อย่างทั่วถึง อาจกล่าวได้ว่าเป็นหมู่บ้านแรกในประเทศไทยก็ว่าได้ โดยไม่ใช้ทุนทรัพย์ของหน่วยงานใด ยังมีกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นทุกระยะตามความจำเป็น เช่น กลุ่มเลี้ยงแพะ กลุ่มสวนส้ม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ฯลฯ ส่วนใหญ่จัดตั้งกันเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการ

                สังคมโดยทั่วไปได้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก สังคมเป็นสังคมเปิดมากขึ้นหลากหลายไปด้วยปัญหานานาชนิด สังคมแสงวิมานก็ไม่พ้นกระแสเชี่ยวกรากอันนี้ไปได้เช่นกัน แต่แสงวิมานก็มีตัวตายตัวแทนมาทุกยุคทุกสมัย เยาวชนเป็นวัยที่อันตรายอย่างมากต่อภาวะดังกล่าว ปัญหาเยาวชนจึงเป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจของบรรดาผู้นำอย่างมาก แต่เยาวชนยุคนี้ก็เป็นความหวังอันสดใสของสังคม การวมตัวค่อนข้างจะเป้นกิจจะลักษณะก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมที่เด่นชัด มีการสนต่อแนวความคิดของคนรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นพี่ๆ

                กลุ่มเยาวชนบ้านแสงวิมานจึงเป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการ การรวมตัวค่อยๆขยายออกไป อย่างกว้างขวางในรูปแบบของกิจกรรมร่วม เช่น การลงแขกทำงาน การมีส่วนร่วมในงานพิธีต่างๆ การอบรมเยาวชน การฟื้นฟูห้องสมุด กิจกรรมทุกชนิด จะใช้มัสยิดเป็นศูนย์ประสานงาน มีการดึงเยาวชนส่วนอื่นๆให้ได้มีส่วนร่วมกิจกรรมโดยเสมอหน้า

                งานหาทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าอันเป็นงานที่สานต่อแนวคิดของรุ่นพี่ๆได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง การรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ของเยาวชนในการจัดงานวันเมตตาเด็กกำพร้า ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นงานระดับจังหวัดที่เป็นการทำงานของเยาวชนโดยเฉพาะที่ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง  รายการเสียงวันศุกร์ รายการพบกันยามเช้า ฯลฯ ซึ่งรายการเหล่านี้เป็นเวทีที่จะให้เยาวชนรุ่นต่อมาใช้แสดงออกในทางที่ถูกต้องและได้มีโอกาสฝึกหัดการพูด

                สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นผลงานที่บรรดาผู้นำและผู้ใหญ่ได้มองด้วยความภาคภูมิใจที่บรรดาลูกหลานได้สืบทอดแบบอย่างอันดีงาม ที่ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

                ด้านการพัฒนาอาชีพของแสงวิมานมิได้หยุดอยู่กับที่ มีการพัฒนางานใหม่ๆ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง จากนาสองครั้ง สวนผักพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนเร็ว เปลี่ยนมาสู่ไม้เศรษฐกิจ สวนส้มโอ ซึ่งทางราชการกำลังส่งเสริมให้ขยายไปทั่วภาคใต้

                แสงวิมานแบ่งอาชีพ   เป็น 4 ลักษณะ คือ

  1. เขตน้ำจืด ทำสวน เช่น ส้มโอ มะพร้าว เป็นต้น
  2. เขตน้ำเค็ม ทำประมง  เช่น การทำนากุ้ง ประมงชายฝั่ง การจับหอยกะพง หอยแมลงภู่ มีการพัฒนาเครื่องมือดูดหอยแทนการดำน้ำ ใช้เครื่องประดาน้ำจับหอย เป็นต้น
  3. การค้าขาย
  4. รับจ้าง เช่น การทำงานในโรงงาน งานก่อสร้าง  ส่วนใหญ่จะเดินทางไป-กลับ เพื่อที่จะรักษาสังคมไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปมากเกินไป

โครงสร้างลักษณะทางสังคมของแสงวิมาน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นไปโดยธรรมชาติที่คนในอดีตได้ปลูกฝังแบบอย่างและถ่ายทอดกันต่อๆมา กล่าวคือผู้บริหารสูงสุดคืออิหม่าม(ผู้นำสังคม)                 การดำเนินการอะไรก็ตาม อิหม่ามจะต้องให้ความเห็นชอบ จะมีรองประธานฝ่ายต่างๆเช่นฝ่ายเศรษฐกิจและวิชาการ (คุณเสน่ห์ ซอแก้ว) ฝ่ายประสานงานราชการ (ผู้ใหญ่บ้าน,อบต.) ฝ่ายพัฒนาสังคม (ผู้อวุโส)  ฝ่ายศาสนาและคุณธรรม (ครูสอนศาสนา) ฝ่ายการศึกษา(คณะกรรมการศึกษา) เป็นต้น

นโยบายหลักของหมู่บ้าน

  1. การพัฒนาควบคู่ในอาชีพและคุณธรรม
  2. รักษาสภาพดั้งเดิม คือ พัฒนาแบบชนบท รักษาธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม
  3. การทำงานเป็นกลุ่ม ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม
  4. รักษาระบบเครือญาติ
  5. ส่งเสริมการศึกษาทุกรูปแบบ
  6. ปรับบทบาทให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ปัญหาอุปสรรค

  1. ความร่วมมือกับท้องถิ่นยังไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีพอ
  2. ประชากรในยุคหลังไม่นิยมงานภาคการเกษตร ซึ่งขัดต่อสภาพเดิมทั้งในด้านความเป็นอยู่และสังคม
  3. หมู่บ้านไม่ค่อยได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐ ถูกมองว่าช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ราชการต้องการผลงานของหมู่บ้าน นำผู้สนใจมาเยี่ยมชม แต่ไม่ค่อยปรับปรุงพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ถนน ระบบชลประทาน ที่ชาวแสงวิมานต้องต่อสู้ตลอดมา
  4. ปัญหายาเสพย์ติด เป็นปัญหาของทุกสังคมในปัจจุบัน ผู้นำได้ร่วมมือกับผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ควบคุมได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้มีวิธีการที่สลับซับซ้อน เป็นขบวนการ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวโน้มในอนาคต เชื่อว่าความอยู่ดีมีสุขจะเกิดขึ้นแก่จังหวัดนครศรีธรรมราช สังคมแสงวิมาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ของอำเภอปากพนัง อันเป็นเขตของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ชาวปากพนังที่ไปทำมาหากินในท้องถิ่นต่างๆ คงจะกลับมาร่วมพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง หากพื้นฐานของแผ่นดินเหมาะสมต่อการทำอาชีพ ผู้คนมีการศึกษาดีมีคุณภาพ เชื่อว่าเมืองนครศรีธรรมราชจะต้องเจริญก้าวหน้าอีกครั้ง

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 24,089 Today: 4 PageView/Month: 38

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...