หมู่บ้านแสงวิมาน
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

มัสยิดแสงวิมาน

(gallery) 201088_42690.jpg

กลุ่มคนที่ถูกต้อนจากรัฐปัตตานีด้วยเหตุผลทางการเมืองสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อลิดรอนอำนาจของรัฐปัตตานี และต้องการแรงงานสร้างเมืองใหม่คือกรุงเทพฯ

                นับเป็นความคิดที่ถูกต้องและสายตาที่ยาวไกลของคณะผู้ก่อตั้งบ้านแสงวิมานเป็นอย่างยิ่งในการที่มองถึงความมั่นคงของสถาบันทางสังคมไว้ให้ลูกหลานในอนาคต คือ มัสยิดและโรงเรียน ให้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ทั้งโรงเรียนศาสนาและสามัญ สะดวกต่อการเรียนการสอนและการปฏิบัติศาสนกิจ หลายสังคมละเลยในเรื่องนี้ มีผลให้การพัฒนาสังคมขาดความสมบูรณ์

มัสยิดหลังแรก

เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2482 ก็สร้างมัสยิดขึ้นจากไม้ป่า หลังคาจาก ใกล้บ้านแชจิ๊ บนที่ที่ดินของนายเลาะห์ ลูกชาย ในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นที่สอนศาสนาไปด้วย คณะผู้บริหารมัสยิดชุดแรกประกอบด้วย นายมูฮำหมัดอาริฟีน แสงวิมาน (ลูกชายแชจิ๊) เป็นอิหม่าม นายผ่อง ภู่ทับทิม เป็นคอเต็บ นายมูฮำหมัดรอช้าด แสงวิมาน เป็นบิหลั่น

มัสยิดหลังที่ 2

ปี 2484 แชจิ๊ถึงแก่กรรม  อิหม่ามมูฮำหมัดอาริฟีน จึงย้ายมัสยิดไปสร้างใหม่บนที่ดินของท่าน(ที่ตั้งมัสยิดหลังปัจจุบัน) เป็นอาคารไม้ขนาด 5 x 6 เมตร หลังคากระเบื้องเผาพื้นเมือง ใช้เป็นโรงเรียนสอนศาสนาไปด้วยเช่นกัน อิหม่ามเป็นผู้สอน บางช่วงเปลี่ยนครูบ้าง ค่าตอบแทนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่สำนึกของครูแสงวิมานทุกคน ห่วงใยต่อการศึกษาศาสนาของลูกหลานมาตลอด

                ผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้น มัสยิดเริ่มคับแคบ จึงได้ตกระเบียงออกไปอีก 3 เมตร ขณะเดียวกันก็คิดวางโครงการสร้างขึ้นใหม่ โดยการก่อคันคอนกรีตถมดินไว้ ค่อยๆสะสมเงินซื้อไม้จนกว่าจะสร้างได้ ก็พอดีเกิดวาตภัย

                ปี 2505 เกิดวาตภัยแหลมตะลุมพุก มัสยิดเหลือแต่โครง ต้องหาจากมาซ่อมพอใช้ไปก่อน ฮัจยีมุด ระดิ่งหิน ได้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านแสงวิมานในเรื่องมัสยิด จึงได้นำตัวแทนชาวบ้านไปกรุงเทพฯ เพื่อยืนยันเรียกร้องความเห็นใจ ซึ่งได้รับการตอบสนองจากพี่น้อง ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นประกอบด้วยผู้นำท้องถิ่นหลายแห่ง ฮัจยีมุด ประสานงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ตัวแทนของบ้านแสงวิมานขณะนั้นคือ ลุงสวัสดิ์ วัฒนเวส(แชฝอย) ชาวบ้านแสงวิมานทั้งหมดต่างตกอยู่ในความทุกข์และมืดมนในอนาคตของตัวเองจากความสูญเสียในคราววาตภัย

 มัสยิดหลังที่ 3

                เมื่อรวบรวมเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงลงมือก่อสร้าง โดยการจัดงานวางรากฐานขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2507 โดยโต๊ะครูยะโก๊บ  สุมาลี เป็นประธานในพิธี นายช่างก่อสร้างคือ นายประสพ สหกุล อาคารมัสยิดหลังนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 21 เมตร ขณะก่อสร้างบ้านแสงวิมานกลายเป็นเมืองน้ำเค็ม ต้องใช้เรือไปบรรทุกน้ำจืดจาก ประตูระบายน้ำบางจาก(ปตร.บางจาก) เพราะการก่อสร้างที่ต้องผสมคอนกรีตด้วยน้ำกร่อย ประกอบกับช่วงแรกของการก่อสร้างได้เพียงคานและยืนเสาไว้อีกถึง 3 ปี จึงได้มีเงินมาต่องานใหม่ได้ถึงโครงหลังคา เว้นมาอีก 3 ปี จึงสร้างเสร็จ  รวมเวลาถึง 10 ปี  ด้วยปัจจัยเวลาที่ยาวนานและวิธีการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวเป็นเหตุให้โครงสร้างส่วนรากฐาน ผุกร่อนก่อนเวลาอันควร

                หลังจากสร้างเสร็จแล้วได้จัดงานฉลองเปิดใช้อาคารเมื่อปี 2517 พร้อมทั้งมีหนี้สินติดค้างอยู่ประมาณ 50,000 บาท เป็นภาระที่ต้องหาชำระเป็นเวลานาน

                คณะผู้บริหารชุดแรกนำโดย นายมูฮำหมัดอารีฟีน (อิหม่าม) นายผ่อง ภู่ทับทิม(คอเต็บ)นายมูฮำหมัดรอช้าด(บิหลั่น)ได้ส่งบุตรหลานไปศึกษาศาสนาที่บ้านปากลัด บุคลเป้าหมายที่ได้รับความรู้จากโต๊ะครูฮัจยีอับบาส แสงวิมาน(แชบะห์)อย่างแท้จริง คือ ฮัจยีอัสอารี แสงวิมาน อิหม่ามคนที่ 3

                ส่วนคณะผู้บริหารชุดที่ 2 (ตั้งแต่ปี 2500 – 2509)เนื่องจากอิหม่ามมูฮำหมัดอารีฟีน ต้องการให้ฮัจยีอัสอารี ลูกชาย มีความรู้จนเป็นที่พอใจและกลับมารับหน้าที่อิหม่าม จึงได้แต่งตั้งให้นายสุไลมาน แสงวิมาน น้องชายฮัจยีอัสอารี ทำหน้าที่อิหม่าม นายการีม ภู่ทับทิม คอเต็บ และนายฮาซัน(สุเทพ)แสงวิมาน บิหลั่น ทำหน้าที่บริหารมัสยิดในช่วงเกิดวาตภัยและก่อสร้างมัสยิดหลังใหม่ระยะแรก

                คณะผู้บริหารชุด 3 ฮัจยีอัสอารี แสงวิมาน กลับจากการศึกษาจึงเข้ารับหน้าที่อิหม่าม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2509 เป็นช่วงของการก่อสร้างมัสยิดจนแล้วเสร็จ สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 1,200,000 บาท ซึ่งควรจะเป็น 1,300,000 บาท ทั้งนี้เพราะได้รับความร่วมมือด้านแรงงานจากชาวบ้าน รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในจังหวัดที่นำเรือประมงมาช่วยขนทรายถมพื้นนับร้อยๆลำ การตกแต่งฉาบผิวและอื่นๆจ้างช่างจากในเมือง การจัดงานฉลองได้รับความช่วยเหลือมากมาย เป็นเรื่องที่ประทับใจชาวแสงวิมานมาโดยตลอด มัสยิดหลังนี้มีอายุใช้งานเพียง 20 ปี

                ในปี 2524 ครูสุอิบ แสงวิมาน ย้ายมาจากปากลัด เพื่อมาสอนศาสนา และเข้ารับหน้าที่คอเต็บ

 มัสยิดหลังปัจจุบัน

                มัสยิดหลังปัจจุบันเป็นหลังที่ 4  กล่าวได้ว่าเป็นมัสยิดที่เกิดขึ้นได้ด้วยการดลบันดาลจากอัลเลาะฮ์(ซ.บ.)เป็นพิเศษเป็นเหมือนฝัน ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้อย่างนี้ เป็นมัสยิดที่นับว่าใหญ่ รูปแบบที่แปลก วัสดุที่มั่นคงแข็งแรง ใช้เวลาก่อสร้างที่รวดเร็วเพียง 2 ปี  และมีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันจากคนต่างท้องถิ่นมากมาย ด้วยความรู้สึกผูกพัน จริงใจ ทุกคนห่วงใยอยากจะเห็นความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว

                เหตุที่ทำให้เกิดมัสยิดหลังนี้ เนื่องมาจากมัสยิดหลังเดิมชำรุดทรุดโทรมลงมากด้วยสาเหตุที่กล่าวแล้วข้างต้น มีความคิดที่แตกต่างกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรหาทางซ่อมแซมของเก่า ด้วยเห็นว่าการสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนผูกพันอยู่กับมัสยิดหลังเก่าที่ได้ทุ่มเทและเหน็ดเหนื่อยมามาก เห็นคุณค่าอยู่ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้มัสยิดมีความสำคัญกว่า เมื่อวิศวกรยืนยันว่าการใช้มัสยิดต่อไปจะเป็นอันตราย ทั้งเห็นว่าการสร้างขึ้นใหม่จะดีกว่าการซ่อมแซมของเก่า โดยเฉพาะในขณะที่ครูสุอิบ แสงวิมาน ยังอยู่ เพราะท่านมีลูกศิษย์และผู้เคารพนับถือท่านอยู่มากที่ปากลัดและอาณาบริเวณใกล้เคียง ในที่สุดก็ตกลงให้รื้อและสร้างใหม่

                แน่นอนที่สุดไม่มีใครอยากรื้อมัสยิดอันเป็นบ้านของอัลเลาะฮ์ ดังนั้นแต่ละค้อนที่ทุบลงบนมัสยิดจึงเจ็บปวดเหมือนทุบลงบนวิญญาณของชาวบ้านเอง การรื้อมัสยิดตั้งวันที่ 6-22 เมษายน 2536 ในขณะที่มีทุนอยู่ 109,979 บาท

                พี่น้องจากปากลัดและกรุงเทพฯได้จัดงานรวมน้ำใจสู่มัสยิดนูรุลญันนะห์ เมื่อวันที่ 30 เมษายนและ 1 พฤษภาคม 2536 ที่โรงเรียนสามัคคีธรรมอิสลาม บ้านปากลัด ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่ง ได้เงินถึง 1,025,000 บาท นับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยจัดงานมาที่ปากลัด

                วันที่ 8-9 พฤษภาคม 2536 จัดงานวางรากฐานมัสยิด ณ มัสยิดบ้านแสงวิมาน(นูรุลญันนะห์) ได้ทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 441,177 บาท  รวมในขณะก่อสร้างมีทุนอยู่ 1,466,177 บาท จึงเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2536

ทุนดำเนินการก่อสร้าง

  1. ทุนเดิม                                                                                                                  109,979  บาท
  2. รายได้จากการจัดงานที่ปากลัด (30เม.ย. – 1 พ.ค.2536)                         1,025,000  บาท
  3. รายได้จากการจัดงานวางรากฐาน (8-9 พ.ค.2536)                                       441,177   บาท
  4. เงินกองทุนฟีสะบีลิลลาห์ (เก็บทุกวันที่ 5 ของเดือน ที่บ้านปากลัด)                                                    ตั้งแต่ มกราคม 2537 ถึงกุมภาพันธ์ 2539                                                                1,000,000   บาท
  5. กองทุนกระปุกออมสินของชาวบ้านแสงวิมาน            135,603 บาท
  6. รับบริจาคในงานสังสรรค์ครบรอบ 1 ปี กองทุนฟีสะบีลิลลาห์                     94,190    บาท
  7. การบริจาคทั่วไป                                                                                                 1,900,694    บาท

                                                           รวมเงินทุนทั้งสิ้น                                            4,706,643    บาท               

หลังจากสร้างเสร็จแล้วได้จัดงานฉลองเปิดใช้อาคารเมื่อวันที่ 6-7 เมษายน 2539

Advertising Zone    Close


Online: 1 Visits: 24,088 Today: 3 PageView/Month: 37

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...